Probiotics และ Fiber ต่างกันอย่างไร และเหมาะกับใคร?

 

ไฟเบอร์ ต่างกับ เอนไซม์อย่างไร

นอกจากปัญหาท้องผูก ปวดท้อง ท้องอืด กรดไหลย้อน จะทำให้เกิดความไม่สบายตัว และระคายเคืองจนคออักเสบอยู่เรื่อย ๆ แล้ว  ก็เป็นอุปสรรค์ต่อการใช้ชีวิต 18+ อย่างเป็นปกติสุขอีกด้วย ดังนั้นปูเป้จึงเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับการดูแลปัญหาเรื่องระบบการย่อยอาหารและการขับถ่ายมาตลอด  ซึ่งรวมไปถึงการใช้ผลิตภัณฑ์พวก  Probiotic (จุลินทรีย์ที่ดีต่อระบบย่อยอาหารและ Fiber (ใยอาหารในชีวิตประจำวันด้วย 

แต่ก่อนที่ทุกคนจะกระโจนเข้าไปหาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ซึ่งมีอยู่มากมายเต็มไปหมดในท้องตลาด ปูเป้อยากให้ทุกคนกลับมาสู่พื้นฐานเพื่อทำความเข้าใจก่อนว่าปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหารมาได้จากหลายสาเหตุ   ทั้งจากสิ่งที่กิน (อาหารที่ย่อยยาก อาหารที่สร้างแก๊ซเยอะ  อาหารที่กระตุ้นอาการบางอย่าง)  ปริมาณที่กิน  (กินมากไป กินน้อยไป)  พฤติกรรมในการกิน (กินเร็วไป เคี้ยวไม่ละเอียด กินไม่เป็นเวลา)  หรือแม้แต่ปัจจัยทางจิต ความเครียด ก็อาจมีผลได้

การแก้ปัญหาจึงต้องพิจารณาสาเหตุและแก้ให้ตรงจุด ทุกอย่างมีที่มาที่ไป มีสาเหตุ ดังนั้นการแก้ปัญหาต้องเริ่มจากหาสาเหตุ ทำความเข้าใจว่าการแก้ปัญหาอาจต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สิ่งที่กิน รวมไปถึงอาจมีตัวช่วยอย่าง Probiotic และ Fiber เสริมไปด้วย (ถ้ามันตอบโจทย์กับสาเหตุของปัญหาของเราพอดี)

และแม้ว่าทั้ง Probiotic และ Fiber จะถูกรับรู้ว่าเป็นตัวช่วยในเรื่องของระบบขับถ่าย แต่ว่ามันไม่เหมือนกัน ทำงานคนละอย่าง และไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรดีกว่า แต่ต้องเลือกให้ตรงกับสาเหตุของปัญหา และบางคนอาจจำเป็นต้องใช้ทั้งคู่ไปพร้อมกัน   ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องรู้ข้อมูลพื้นฐานก่อนว่าทั้งสองอย่างนี้คืออะไร ทำงานอย่างไร ต่างกันอย่างไร และเหมาะกับการดูแลปัญหาที่มาจากสาเหตุใด

Probiotics คืออะไร? คาดหวังอะไรได้บ้าง?

Probiotics / โพรไบโอติก คือนิยามของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่กับร่างกายมนุษย์ เช่นในระบบทางเดินอาหาร บนผิวหนัง และมีความสัมพันธ์ที่เป็นบวกหรือมีประโยชน์กับสุขภาพร่างกายของเรานั่นเอง  โดยจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์กับมนุษย์นั้นมีสัดส่วนและความหลากหลายที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน

ข้อมูลในปัจจุบันชี้ว่าความหลากหลายและสัดส่วนของสายพันธู์ที่อาศัยอยู่มีผลต่อสุขภาพของเราในด้านต่าง ๆ  การผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคลำไส้แปรปรวน / Irritable Bowel Syndrome (IBS) แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดแต่ก็มีข้อมูลที่ชี้ว่าในผู้ที่มีปัญหา IBS มักมีสมดุลของแบคทีเรียที่ไม่ดีมากกว่า และการรับประทาน Probiotics สามารถช่วยให้อาการดีขึ้นได้

แม้ว่าปัจจุบันมีการศึกษาเกี่ยว Probiotics กับผลต่อสุขภาพของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ อย่างมากมาย ว่าสมดุลขอแบคทีเรียที่ดีในลำไส้อาจส่งผลไปยันสมองเลย แต่มักมีข้อจำกัดเรื่องคุณภาพและการออกแบบการวิจัย  การศึกษาที่มีข้อมูลค่อนข้างเยอะและมากพอที่จะนำมาอ้างอิงเพื่อใช้งานได้มักเป็นการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร

โดยสรุปแล้ว Probiotics นั้นมีข้อมูลที่สนับสนุนว่าสามารถใช้เป็นทางเลือกในการดูแลปัญหา อาการท้องเสียจากการใช้ยาปฏิชีวนะในผู้ใหญ่  บรรเทาอาการของโรคลำไส้แปรปรวน (IBS) และช่วยเสริมการเคลื่อนไหวของลำไส้ช่วยลดอาการท้องผูกทั้งในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ผ่านกลไกของการปรับสมดุล เพิ่มปริมาณของเชื้อที่ดีในระบบลำไส้ แต่การศึกษาก็พบว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์ Probiotics นั้นไม่สามารถเปลี่ยนโปรไฟล์ของเชื้อในลำไส้ของเราได้ถาวร

ข้อมูลที่ปูเป้ใช้อ้างอิงเป็นหลัก และใช้ในการตัดสินใจและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ Probiotics มาจากคำแนะนำของ National Institutes of Health (NIH) หรือสถาบันสุขภาพแห่งชาติของประเทศอเมริกา และคำแนะนำจาก World Gastroenterology Organisation หรือ องค์การโรคทางเดินอาหารโลก ทุกคนสามารถเข้าไปอ่านข้อมูลได้เองทางอ้างอิงด้านล่างนี้

แนวทางเลือกผลิตภัณฑ์ Probiotics

1. การจะได้ผลจาก Probiotics นั้นต้องใช้ความต่อเนื่องในการรับประทาน และใช้ระยะเวลาตั้งแต่ 4 – 12 สัปดาห์ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงอย่างแรกคือการเข้าถึง เช่นสามารถหาซื้อได้ง่าย เตรียมหรือทำได้ง่าย มีราคาที่สามารถจ่ายไหว และเลือกรูปแบบที่ตัวเองสะดวกเพื่อให้สามารถรับประทานได้อย่างต่อเนื่อง

คือไม่ว่าจะซื้อหรือจะหมักโยเกิร์ต คอมบุฉะ คีเฟอร์ ด้วยตัวเอง หรือจะเลือกเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะแบบเม็ด แคปซูล แบบผง ปูเป้แนะนำว่าให้เลือกสิ่งที่ตัวเองสะดวกและสามารถใช้ได้อย่างต่อเนื่องครับ

2. คุณสมบัติของ Probiotics ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของเชื้อเป็นหลัก  การศึกษาถึงสรรพคุณต่าง ๆ เช่นการลดปัญหาท้องเสียจากการใช้ยาแอนตี้ไบโอติก หรือปัญหาโรคลำไส้แปรปรวน (IBS) จะระบุว่าใช้เชื้อสายพันธุ์ไหนเอาไว้ ดังนั้นให้ดูว่าผลิตภัณฑ์ใช้ Probiotics สายพันธุ์อะไร ตรงกับปัญหาที่เราต้องการดูแลไหม? ตัวอย่างเช่น

หากต้องการลดอาการท้องเสียจากการกินยาปฏิชีวนะ ให้มองหาโพรไบโอติกกลุ่ม Lactobacillus rhamnosus GG / Saccharomyces boulardii ภายใน 2 วันแรกที่เริ่มใช้ยาปฏิชีวนะ

หากมีปัญหาการปวดท้องจากปัญหาลำไส้แปรปรวน (IBS) ให้มองหาโพรไบโอติกกลุ่ม Bifidobacterium breve Bifidobacterium longum Lactobacillus acidophilus 

หากมีอาการท้องอืดท้องบวมจากปัญหาลำไส้แปรปรวน (IBS) ให้มองหาโพรไบโอติกกลุ่ม  Bifidobacterium breve Bifidobacterium infantis / Lactobacillus casei Lactobacillus plantarum 

หากมีการท้องผูกในผู้ใหญ่รวมถึงผู้สูงอายุ อาจมองหาโพรไบโอติกกลุ่ม Bifidobacterium bifidum / Bifidobacterium lactis / Bifidobacterium longum /Lactobacillus acidophilus /Lactobacillus rhamnosus รวมไปถึง Lactobacillus reuteri ที่ช่วยเสริมการเคลื่อนตัวของลำไส้


ความคิดเห็น